เมื่อฝนแรกของปีเริ่มต้น🌧️…หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของกาแฟกรก็คือ 'การจัดการดูแลสวนกาแฟ' School Coffee, สุขพอดี, Akha Ama และ Rotator Cuff Coffee จึงรวมมือกันส่งทีมนักพัฒนาขึ้นไปให้การสนับสนุนและให้ความรู้เรื่องการจัดการสวน ณ บ้านขุนตื่น(สวนลุงสุพจน์)และบ้านกองซาง(สวนลุงอ้วน) อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของหนึ่งในลูกสวนกาแฟของพี่ต้า ผู้โปรเซสกาแฟภายใต้แบรนด์ "กาแฟรักษ์ป่าอมก๋อย SOFT Coffee กาแฟคุณภาพพิเศษ"

กิจกรรมแรกซึ่งเป็นเรื่องราวที่พวกเราให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้คือ การต่อสู้กับมอดเจาะผลกาแฟ เพราะมอดเป็นตัวทำลายผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ กาแฟกรอาจสูญเสียรายได้ไปมากว่า50%จากรายได้ประจำปีเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกาแฟกรมีการจัดการด้วยวิธีที่ถูกต้องและในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถช่วยลดปัญหาเจ้ามอดได้อย่างมาก โดยวิธีการจัดการคร่าวๆมี 3 ข้อดังนี้
1. การทำลายบ้านของมอด บ้านของมอดคือเมล็ดกาแฟที่หลงเหลือจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเมล็ดดำแห้งคาต้น เมล็ดที่ล่วงหล่นอยู่ตามพื้น กาแฟกรจะต้องเก็บออกจากสวนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วนำไปต้มในหม้อน้ำเดือดปิดฝาเพื่อทำลายไม่ให้มอดมีที่อยู่อาศัย บางท่านคิดว่าการเผาก็เพียงพอแล้วแต่จากประสบการณ์ของพวกเรา มอดยังสามารถบินหนีออกไปได้ระหว่างการเผา การต้มน้ำในหม้อและปิดฝาจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า


2. การใช้กับดักมอด คือการใช้สารล่อและสารดักจับมอด กับดักนี้สามารถวางไว้รอบๆพื้นที่ปลูกเพื่อคล้ายๆจะสร้างเกราะกำบังให้ไม่ให้มอดตัวใหม่ๆเข้ามาและเพื่อลดปริมาณมอดที่มีอยู่แล้วในสวนอยู่แล้ว โดยสามารถทำได้ตั้งแต่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวจนถึงก่อนเข้าฤดูฝน


3. การใช้เชื้อราธรรมชาติอย่างเชื้อรา 'บิวเวอเรีย' เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อต้นกาแฟเพราะสามารถกำจัดมอดได้ตั้งแต่ระยะตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัยและไม่ส่งผลใดๆต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ ซึ่งการนำไปใช้สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้
1. ใช้ผงเชื้อราโรยที่โคนต้นในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตสุดท้าย
2. ใช้ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นที่ทั่วต้นและใบในช่วงฝนแรกของปี เพราะจะทำให้เชื้อรามีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยความชื้นและอุณหภูมิในช่วงฝนตก
ทั้งนี้เรายังสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อรา ‘บิวเวอเรีย’ ได้เองเพื่อลดต้นทุน โดยนำบัตรประชาชนไปยื่นที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเพื่อขอหัวเชื้อมาขยายต่อและยังสามารถนำมาแบ่งปันชาวกาแฟกรด้วยกันได้ เพื่อช่วยกันกำจัดปัญหาเจ้ามอดนี้ เราขอขอบคุณสำนักวิจัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

กิจกรรมต่อมา พวกเราก็ลุยเข้าไปที่สวนเพื่อทำการเสริมสวยให้คุณแม่ต้นกาแฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ทั้งแรงงาน ความเข้าใจและศิลปะเฉพาะตัวของกาแฟกรแต่ละท่าน เรียกได้ว่าเป็นงานอาร์ทกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามแนวทางปฎิบัติเบื้องต้นเพื่อเสริมสวยอย่างถูกวิธีแบ่งเป็น 3 ข้อดังนี้
1. การตัดแต่งกิ่งเล็กที่อยู่รอบๆต้น (ไม่ใช่ลำต้น) เพื่อทำให้ต้นกาแฟไม่รกจนเกินไป มีช่องลมให้อากาศถ่ายเท มีทางแสงผ่านได้ และยังช่วยลดปริมาณการติดลูกเชอรี่ที่มากจนเกินไป จนทำให้ต้นคุณแม่โทรมลงได้
2. การตัดยอด เพื่อไม่ให้ต้นสูงจนเกินไป นอกจากจะเก็บผลผลิตยากแล้ว การลำเลียงอาหารจากรากสู่ยอดที่สูงก็จะทำได้ยากอีกด้วย
3. การทำสาว เพื่อฟื้นฟูต้นคุณแม่หรือต้นที่โทรมให้ได้พักการผลิตและสะสมอาหารเตรียมการเจริญเติบโตในฤดูกาลต่อไป ซึ่งกาแฟกรหลายๆท่านอาจจะไม่ยอมทำเพราะกลัวผลผลิตจะลดลง แต่จากบันทึกของพวกเราจากการทำสาวในหลายๆพื้นที่และหลายๆปีพบว่า ต้นกาแฟที่ทำสาวอาจจะไม่ให้ผลผลิตในปีต่อมาทันทีแต่เมื่อเริ่มให้ผลผลิต จะให้ในปริมาณที่มากจนชดเชยผลผลิตในปีที่ขาดหายไปได้อย่างรวดเร็วด้วยคุณภาพเชอรี่ที่ดีงามกว่า พูดง่ายๆว่าคุ้ม!!ที่จะทำ


สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณพี่ต้าที่พาเราไปพบกับลุงสุพจน์และลุงอ้วนเจ้าของสวนกาแฟทั้งสอง และผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดที่ให้ความสำคัญและยอมลำบากไปกับเราครั้งนี้ เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการดูแลธรรมชาติและบ้านของกาแฟจะทำให้เราได้ดื่มกาแฟอร่อยๆ ไปยาวๆ เลยคร้าบบบ ไว้มีโอกาสไปร่วมด้วยช่วยกันนะคร้าบบ
Comments