"ผมอยากเป็นมากกว่าคนรับซื้อกาแฟ ผมอยากพัฒนาเติบโตไปด้วยกัน ผมจึงอยากแบ่งปันให้กับทุกคน"
ประโยคอันทรงพลัง ที่แฝงไปด้วยเจตนา ความสัมพันธ์ และความหวังดีอย่างตรงไปตรงมา จากกาแฟกร นามว่า 'แสนชัย' ต่อกลุ่มกาแฟกรในพื้นที่กัลยาณิวัฒนา
เดินทางสู่ แสนชัย Estate ณ อ.กัลยาณิวัฒนา
เมื่อวันที่ 18 - 20 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา พวกเรานำโดยพี่บิ๊ก จาก School Coffee และทีมงาน ได้นัดกับคุณแสนชัยที่ อ. กัลยาณิวัฒนา โดยการมาที่อ.กัลยาณิวัฒนาในครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือ เพื่อพูดคุย เล่าเรื่องราว และแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนให้กับกาแฟกรที่กัลยาณิวัฒนา โดยมีคุณแสนชัย ผู้ที่เป็นทั้งคนปลูกกาแฟ คนทำ process และเป็นนักทดลอง process กาแฟอย่างสนุกสนานแบบอิงหลักการ และพี่บิ๊ก มาร่วมกันพูดคุยกันกับกาแฟกรในพื้นที่กัลยาณิวัฒนา ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาการปลูกกาแฟพิเศษไทยอย่างยั่งยืนทั้งในแง่ของคุณภาพกาแฟ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
เมื่อเรามาถึงบ้านคุณแสนชัยที่อ.กัลยาณิวัฒนา ครอบครัวของคุณแสนชัยต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่นและอาหารอร่อย ๆ เช่นเดิม จากนั้นพวกเราก็เข้าไปดูไร่ของคุณแสนชัยเพื่อไปดูการทำไร่กาแฟแบบขั้นบันไดสำหรับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ลาดชัน และชมโรงตากกาแฟของคุณแสนชัยที่ใช้เซนเซอร์ตรวจจับความร้อนและความชื้น โดยพัดลมหรือหลอดไฟให้ความร้อนจะทำงานอัตโนมัติเมื่อภายในโดมมีอุณหภูมิหรือความชื้นสูงกว่าที่กำหนดไว้ตามลำดับ
มาช่วงนี้เป็นช่วงฝน ก็จะมาเจอกับความเขียวและความชุ่มชื้นของต้นไม้ ทุ่งนา และป่า ในส่วนของกาแฟก็เริ่มติดลูกแล้ว อีกไม่กี่เดือน ซักประมาณ ตุลาคมเป็นต้นไป ก็เริ่มเก็บผลผลิต และเริ่มทำ process ได้
พบปะพูดคุยกับกาแฟกรในพื้นที่อ.กัลยาณิวัฒนา
พวกเรานัดพบปะพูดคุยกันพี่ ๆ น้อง ๆ กาแฟกร ในวันที่สอง ซึ่งเป็นการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการพัฒนา และเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และส่งต่อโอกาสที่ดีที่ผ่านมาให้แก่พี่ ๆ น้องๆ กาแฟกร โดยมีผู้ปลูกกาแฟจำนวนประมาณ 15 ท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมของเราในครั้งนี้
การพูดคุยครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่อธิบายความต่างของกาแฟทั่วไปและกาแฟพิเศษ ผลดีต่าง ๆ ที่จะเกิดต่อตัวกาแฟกรเองหากทำกาแฟที่มีคุณภาพดีออกมา ต่อด้วยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงในการทำกาแฟพิเศษคุณภาพดีออกมา ซึ่งได้แก่
(1) การเพาะเมล็ด ที่จะส่งผลต่อไปยังระบบราก และความแข็งแรงสมบูรณ์ของต้นกาแฟต่อไป (2) การเตรียมหลุม ทั้งขนาดและความลึกของหลุม การเตรียมอาหารก้นหลุม ระยะห่างระหว่างต้นกาแฟ และการทำหลุมเพื่อเป็นธนาคารอาหารของต้นกาแฟ ซึ่งนี่ก็เหมือนกับการเตรียมบ้านเพื่อเข้าอยู่ การมีบ้านที่ดี ที่เหมาะสม อยู่สบาย ต้นกาแฟก็จะอยู่อย่างมีความสุข มีความสบาย และมีอาหารไว้กิน (3) การทำขั้นบันได ซึ่งหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทยเป็นที่ลาดชัน การทำไร่แบบขั้นบันไดจะช่วยชะลอการชะหน้าดินและธาตุอาหาร ซึ่งดีต่อต้นไม้ทุก ๆ ต้นที่ปลูกบนพื้นที่นั้น และยังทำให้พวกเราสามารถทำงานในไร่ได้สะดวกขึ้น (4) สายพันธุ์ โดยเมื่อเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว การมีสายพันธ์ุที่ดีก็จะทำให้เรามีกาแฟที่ดี ซึ่งเราควรมีการแยกสายพันธ์ุ เพาะเมล็ดพันธุ์ และเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ เช่นบางสายพันธุ์ไม่ชอบแสง แต่บางสายพันธุ์ก็ชอบแสง หากเราหาบ้านที่เหมาะสมกับความชอบของต้นกาแฟแต่ละสายพันธุ์ได้ เค้าก็จะเติบโตได้อย่างสบายกายสบายใจ
ตัวอย่างการปลูกแยกสายพันธุ์
พื้นที่กัลยาณิวัฒนานั้น มีต้นทุนที่ดีแล้ว ทั้งระดับความสูง สายพันธ์ุ เป็นพื้นที่ที่ยังคงความเป็นอินทรีย์อยู่ และสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ก็มีร่มเงาต้นไม้ ในเรื่องการปลูกกาแฟนั้น ยิ่งหากเราทำอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น และมีการดูแลอย่างดีในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นเค้าก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วอีกหลายสิบปี ส่วนเรื่องของผลผลิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับการที่เราไปดูแลใส่ใจต้นกาแฟต่อไป
หลังจากการแบ่งปันเรื่องราวแล้ว ก็ได้เดินดูพื้นที่ที่แสนชัยได้นำต้นกาแฟมาลงดินไว้ และพูดคุยกันต่อ เรื่องการใส่ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยที่เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และวิธีการใส่ปุ๋ย รวมไปถึงการมีต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ เพื่อเป็นต้นพี่เลี้ยงให้กับต้นกาแฟ
ประสบการณ์ cupping ครั้งแรกของกาแฟกร
นอกจากการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในการปลูกกาแฟและการจัดการไร่กาแฟแล้ว พวกเราก็มีกิจกรรมต่อไป คือการชิมกาแฟ ด้วยวิธีการคัปปิ้ง เพื่อให้พี่ๆ น้อง ๆ ผู้ปลูกกาแฟได้ชิมกาแฟ ทั้งกาแฟพื้นที่กัลยาณิวัฒนา กาแฟต่างประเทศ และกาแฟที่เป็น defect เพื่อให้ได้ชิมความหลากหลายของรสชาติกาแฟ และสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของกาแฟที่ดี และกาแฟที่ไม่ดี รวมทั้งกาแฟในแบบที่เราอยากให้เป็นในอนาคต เราเชื่อว่านี้เป็นการชิมกาแฟโดยวิธีการ cupping ครั้งแรกของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลาย ๆ คน หลายคนประหลาดใจกับรสชาติและกลิ่นของกาแฟที่ได้ลิ้มลอง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรสชาติที่แต่ละคนสัมผัสได้ สนุกสนานกันเลยทีเดียว
เยี่ยมชมไร่กาแฟตัวอย่างของกาแฟกรในพื้นที่
ต่อมาในช่วงบ่าย พวกเราก็ได้ไปเยี่ยมชมไร่กาแฟของพี่ผู้ปลูกกาแฟที่มาร่วมกิจกรรมของพวกเราในวันนี้จำนวน 2 แห่ง และพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการไร่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ต่างก็มีจุดเด่นที่ต่างกันไป เช่นที่แรกนั้น เด่นในเรื่องการเป็นพื้นที่ที่มีร่มเงา ระยะห่างระหว่างต้นกาแฟมีการเว้นระยะที่ดี ต้นไม้อยู่สบาย คนเดินทำงานก็สบาย ในขณะที่อีกที่นั้น จะเด่นในเรื่องความหลายหลายของต้นไม้ที่ปลูกร่วมกับต้นกาแฟ
การจัดการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน ในครั้งนี้ เริ่มจากเจตนาที่ดี และความต้องการแบ่งปันจากทั้งคุณแสนชัยและพวกเราชาว School Coffee ซึ่งไม่ใช่แค่การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ แต่แบ่งปันสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งต่อกาแฟกรเอง ความเป็นอยู่ของต้นกาแฟ และสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย ซึ่งครั้งนี้ พวกเราถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกาแฟร่วมกันกับกาแฟกรกัลยาณิวัฒนาที่มีความตั้งใจและเป้าหมายร่วมกันกับพวกเรา ซึ่งก็จะมีสิ่งที่ต้องทำร่วมกันต่อ ๆ ไป เช่น การเพาะพันธุ์กาแฟร่วมกัน การช่วยกันเตรียมการปลูก ..... ต่อไปเราจะมาร่วมกัน “ลงแขกกาแฟ” กัน!
——
เรื่อง: จอม อุไรพรรณ์
ภาพ: admin บิ๊ก / admin เอิง / จอม อุไรพรรณ์ / ปอ วริศรา
เรียบเรียง: admin เอิง
Comments