ช่วงนี้เพื่อน ๆ หลายคนเก็บตัวอยู่บ้านไม่ออกไปไหน เราก็เช่นกัน และพอได้อยู่กับที่ นึกเรื่องราวต่าง ๆ ก็นึกได้ว่า เอ๊ะ! เรายังมีเรื่องราวของกิจกรรมกาแฟที่ยังไม่ได้มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังนี่นา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ทำร่วมกับกาแฟกรในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา (และก็ยังคงจะมีต่อเนื่องไปอีก) ซึ่งกิจกรรมเดิมนั้นเคยเขียนไว้ในหัวข้อ "ลงแขกกาแฟ"... กิจกรรมนั้นคืออะไร เราจะมาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านเพลินๆ กัน
เพาะแยกสายพันธุ์กาแฟ ณ กัลยาณิวัฒนา
หากยังพอจำกันได้ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ปีที่แล้ว พวกเรานำโดยพี่บิ๊กจาก School Coffee และทีมงานร่วมกับคุณแสนชัย เกษตรกรและนักแปรรูปกาแฟจากไร่ Saenchai Estate ที่เพื่อนๆ หลายท่านได้สัมผัสกับความดีงามของกาแฟเค้าแล้ว พวกเราได้เดินทางไปที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ. เชียงใหม่ เพื่อร่วมพูดคุยกันกับกาแฟกรในพื้นที่ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาการปลูกกาแฟพิเศษไทยอย่างยั่งยืนทั้งในแง่คุณภาพกาแฟ คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งมีทั้งการพูดคุย เล่าเรื่องราว แบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการปลูกและการจัดการไร่กาแฟรวมถึงให้กาแฟกรได้ชิมกาแฟหลากหลายตัวด้วยวิธ๊การคัปปิ้ง ซึ่งครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกาแฟร่วมกันกับกาแฟกรกัลยาณิวัฒนาที่มีความตั้งใจและเป้าหมายร่วมกันกับพวกเราต่อไป
ในครั้งนี้พวกเราซึ่งมีพี่บิ๊กจาก School Coffee พี่เอจาก Gallery Drip Coffee น้องจิ๊บจากสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) คุณแสนชัยจาก Saenchai Estate และแขกพิเศษจากต่างประเทศของเรา คุณ Danny ก็ได้เดินทางไปยัง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ กันอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 เพื่อสานต่อความตั้งใจที่ได้เริ่มลงมือทำกันไปแล้ว โดยครั้งนี้พวกเราได้นัดหมายกาแฟกรเพื่อมาร่วมแรงร่วมใจเพาะพันธุ์กาแฟด้วยกัน
กาแฟในบริเวณ อ.กัลยาณิวัฒนา ที่ปลูกกันมาแต่ดั้งเดิมแม้จะสามารถระบุแหล่งปลูกได้ แต่ก็มีไม่มากนักที่สามารถระบุสายพันธุ์ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งในการทำกาแฟพิเศษที่พวกเราได้เคยทำกันมา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการดูแลดิน การจัดการไร่กาแฟ และการแปรรูปกาแฟ แต่ในครั้งนี้พวกเรากำลังเริ่มทำในอีกเรื่องนึงซึ่งสำคัญต่อการทำกาแฟพิเศษเช่นกัน นั่นคือการปลูกกาแฟแยกสายพันธุ์
ครอบครัวแสนชัยเป็นแกนนำหลักในการเพาะพันธุ์กาแฟแยกสายพันธุ์ ซึ่งแสนชัยได้เตรียมเมล็ดกาแฟต่างๆ ไว้ให้กาแฟกรมาร่วมเพาะเมล็ดพันธุ์กัน เช่น Java Gesha Syrina SL28 แสนชัยได้เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ และไม่ได้เอามาเพื่อขายให้กับกาแฟกร แต่ให้ทุกคนมาได้มาร่วมแรงร่วมใจเริ่มต้นการเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วยกัน ดูแลกันจนเริ่มโตเป็นต้นกล้าแล้วค่อยแจกจ่ายต้นกล้าให้กันต่อไป
ครอบครัวแสนชัยและกาแฟกรร่วมกันทำแปลงเพาะเมล็ด นำเมล็ดกาแฟลงดินซึ่งทำทีละสายพันธุ์ รดน้ำ ปัก ป้ายชื่อสายพันธุ์เอาไว้ให้ชัดเจน จากนั้นก็เริ่มทำสายพันธุ์ต่อไป
จากเมล็ดพันธุ์เติบโตเป็นต้นกล้า
หลังจากนำเมล็ดพันธุ์ลงดินแล้ว ก็ต้องดูแลรดน้ำกันต่อไปจนเริ่มงอก แล้วค่อยย้ายต้นใส่ถุงปลูก นำไปไว้ในโรงอนุบาลต้นกล้าที่เป็นพื้นที่มีแสลนกรองแสง ซึ่งโดยปกติกว่าจะถึงช่วงดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน แต่ด้วยพื้นที่นี้อากาศเย็น ทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 เดือน (เราไปช่วงกลางเดือนมีนาคม ตอนกลางคืนห่ม ผ้าห่ม 2 ผืน ยังแทบเอาไม่อยู่เลยล่ะ) ดังนั้นพวกเราก็จะมีนัดมาพบเจอกันต่ออีกครั้งคือ 2 เดือนจากนี้
Let's cupping!
หลังจากลงมือเพาะเมล็ดพันธุ์เสร็จเราก็มาชิมกาแฟกัน โดยพี่เอดริปกาแฟจากกัลยาณิวัฒนา และกาแฟต่างประเทศ ให้กาแฟกรได้ดมและชิมโดยที่เรายังไม่บอกว่ากาแฟในเหยือกคือกาแฟตัวใด เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น เมื่อดมแล้วได้กลิ่นอะไร ชิมแล้วต่างกันไหม อย่างไร และชอบกาแฟตัวไหน จากนั้นพวกเราและกาแฟกรก็แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับตลาดกาแฟปัจจุบัน แนวโน้มอนาคต และการจัดการไร่กาแฟ
บทส่งท้าย
การมาครั้งนี้ ได้เห็นความตั้งใจของทั้งครอบครัวแสนชัยและเหล่ากาแฟกรใน อ.กัลยาณิวัฒนา จ. เชียงใหม่ ที่มาร่วมกันเพาะกาแฟแยกสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงความสนใจของการแฟกรที่มีต่อกาแฟพิเศษ การแสดงความเห็น ตั้งคำถาม ตอบคำถาม และแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้กับพวกเรา... เห็นแล้วก็รู้สึกชื่นชมและดีใจต่อทิศทางการเดินหน้าต่อไปของกาแฟไทยในพื้นที่แห่งนี้ และอดตื่นเต้นไม่ได้ที่อีกไม่กี่ปีเราจะได้ชิมกาแฟที่ได้ร่วมเพาะแยกสายพันธุ์กัน :)
ปล. สามารถอ่านบทความเดิม เรื่อง 'ลงแขกกาแฟ' ได้ที่ https://www.schoolcoffeestore.com/post/%E0%B8%81-%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%94-%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81-%E0%B8%99%E0%B8%81-%E0%B8%9A-%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%8A-%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9F%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%9E-%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9C-%E0%B9%80%E0%B8%95-%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B-%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%94-%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B8%87
----------------
ขอขอบคุณ
เรื่อง: จอม อุไรพรรณ์
เรียบเรียง: จอม อุไรพรรณ์
ภาพ: จอม อุไรพรรณ์ และ Admin บิ๊ก
Comments