"กาแฟนำพาเราไปพบเจอกับประสบการณ์และผู้คนแปลกใหม่อยู่เสมอ"
แต่อะไรที่ทำให้ร้านกาแฟธรรมดาๆร้านหนึ่งได้รับเกียรติจากครูหยอยมาสอนถึงร้าน!!!
เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณบิ๊ก พี่ใหญ่ของพวกเรา มีความคิดอยากทำแบบการเรียนการสอนเรื่องราวของกาแฟในแบบสคูลๆที่เน้นความสนุกสนาน อบอุ่น สงบและสวยงาม ประมาณมานี มานะ ชูใจ (ถ้ายุคนี้น่าจะเป็นแก้วกล้า 55555) เลยเริ่มมองหาตัวอย่างของภาพที่จะใช้เป็นต้นแบบ จนไปสะดุดตากับภาพวาดในหนังสือของครูหยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล นักวาดภาพประกอบสีน้ำและนักเขียนชื่อดังของเมืองไทย หรือรู้จักกันในนาม ‘Sasi การเดินทางของพระจันทร์’ เข้า แกก็ชื่นชอบแบบสุด ๆ และพยายามลองวาดตามคุณศศิ แน่นอน….ไม่รอด แกจึงตัดสินใจไปเรียนคลาส Watercolor 30+ by Sasi ดีกว่า
ผลพลอยได้จากการเรียนครั้งนั้นคือการหลอกหล่อครูหยอยมาสอนให้กับทีมงาน School Coffee ได้สำเร็จ! จึงทำให้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพวกเราเหล่าสคูลฯ 8 คน ได้มีโอกาสเข้าคลาสเรียนวาดรูปเล่นกับครูหยอยที่ school coffee นอกจากนี้พวกเรายังประทับใจกับแบบฝึกหัดที่คุณศศิเตรียมมาสอนด้วย เพราะมันคือภาพวาดอุปกรณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ เรียกได้ว่าเป็นคลาสเรียนที่พิเศษสุด ๆ ไปเลย
วาดเล่น…จำเป็นต้องฝึกฝน?
เราขอเรียกคลาสเรียนตลอด 3 ชั่วโมงนี้ว่า ‘ชั่วโมงฝึกวาดเล่น’ คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่า ‘วาดเล่น’ จำเป็นต้องฝึกด้วยหรือ? ใช่แล้วค่ะ…การวาดเล่นให้ได้นานไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ อย่างที่รู้สึกกัน และนอกจากจะได้ทักษะการวาดรูปแล้ว เชื่อมั้ยคะว่า การวาดเล่นยังส่งผลในแง่ของการบริหารกล้ามเนื้อมือ และฝึกการทำงานของสมองซีกขวาอีกด้วย
คลาสเรียนเริ่มแล้ว!
อย่างแรกเลยคือ การที่เราจะวาดรูปเล่นได้ดีและสนุก มัดกล้ามเนื้อมือที่ใช้ในการวาดจำเป็นต้องแข็งแรง เพราะจะทำให้เส้นที่ออกมาสวย และไม่เป็นตะคริวเวลาวาดนานๆ คุณศศิจึงเริ่มต้นคลาสด้วยการให้พวกเราฝึกวาดเส้นขีดสั้น ๆ แนวตั้ง แนวนอน แนวทะแยง วนเป็นวงกลม แล้วค่อยๆ เริ่มขีดยาวขึ้น ๆ
อย่างที่สอง เราต้องทำความเข้าใจว่า ภาพแต่ละภาพบนโลกใบนี้ ล้วนประกอบจากเส้นไม่กี่ชนิด ดังนั้นหากจะวาดภาพตามแบบ ให้มองสิ่งของหรือภาพที่อยู่เบื้องหน้าเป็นเส้นที่ประกอบกันจนเป็นทรง เห็นวัตถุประกอบด้วยเส้นแบบไหนก็วาดตามที่เห็น ลบภาพจำในหัว เช่น มองแก้วน้ำ ให้มองว่าแก้วใบนี้เกิดจากเส้นตรงแนวตั้ง 2 เส้น เส้นโค้ง 4 เส้น เป็นต้น
อย่างที่สาม เป็นเทคนิคการวาดเล่นตามแบบที่ค่อนข้างเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับพวกเรา คือให้เริ่มจากการวาดโครงหลักของภาพก่อน คุณศศิใช้คำว่า ‘วิญญาณหลัก’ นั่นคือเส้นที่อยู่รอบนอกสุดของภาพที่เราเห็น เช่น ภาพแก้วที่มีหลอดใส่อยู่วางคู่กับกาน้ำ ถ้ามุมมองที่เห็นสามสิ่งนี้ซ้อนทับกันอยู่ ภาพโครงหลักจะเป็นเส้นเชื่อมระหว่างเส้นนอกสุดของแก้ว หลอด และกาน้ำ จากนั้นให้เริ่มวาดเส้นโครงรอง หรือ ‘วิญญาณย่อย’ คือให้เห็นว่าในก้อนโครงหลัก แท้จริงประกอบด้วยเส้นของสิ่งของอะไรบ้าง เช่น วาดเป็นโครงแก้วน้ำ โครงหลอด และโครงกาน้ำ สุดท้ายคือใส่รายละเอียดของโครงรองแต่ละส่วน
สุดท้าย อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่คุณศศิมักกล่าวไว้คือ ขณะวาดพยายามทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย สบายๆ เห็นขอบสิ่งของเป็นเส้นแบบไหน ก็วาดตามที่เห็น ปล่อยให้สมองซีกขวาทำงานบ้าง ค่อย ๆ วาดทีละเส้น ไม่ต้องรีบร้อน เดี๋ยวมันก็เสร็จ
ระหว่างที่พวกเรากำลังขะมักเขม้นอยู่กับการฝึกวาดเล่นนั้น ทางด้านคุณศศิก็ถือโอกาสวาดรูปสีน้ำเล่น มีใจดีสุนัขประจำร้านเป็นนายแบบ
ฝึกวาดเล่น vs ฝึกชงกาแฟ
จะว่าไปการวาดรูปเล่น ก็คล้ายกับการทำกาแฟอยู่ไม่น้อย การจะทำกาแฟให้สนุกและออกมารสชาติดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินที่จะฝึกฝน ค่อยๆ ทำ ฝึกการลงน้ำหนักบนกาแฟภายใต้ความผ่อนคลาย ไม่ต้องเคร่งเครียด ในบางครั้งเราเผลอใช้สมองซีกซ้าย หยิบเอาทฤษฏีนู่นนี่มาใช้ในการชงกาแฟ แต่สุดท้ายแล้วกาแฟมันคือศิลปะ มันไม่มีอะไรตายตัว หากสมองซีกขวาได้ทำงานกับกาแฟแก้วนั้นที่คุณชง มันจะอร่อยขึ้นไม่รู้ลืม 😊
ขอบคุณครูหยอยที่ให้เกียรติมาสอนการเทคนิคการวาดรูปให้แก่ชาวสคูลฯ แถมยังวาดรูปร้านให้เป็นของที่ระลึกหลังจบคลาสในวันนั้นอีกด้วย! ประทับใจมากเลยค่ะ การได้พบเจอและรู้จักกับ ครูหยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล คือความปราบปลื้มของพวกเราชาวสคูลอย่างยิ่งและหวังว่าสักวัน “พระจันทร์จะมานั่งจิบกาแฟ” กันอีกนะคะ
_________________________________________________________
เครดิตรูปภาพและกรุณาติดตามเพจ:
1) Sasi การเดินทางของพระจันทร์ (https://www.facebook.com/sasi.sketchbook/)
2) Watercolor 30+ by Sasi (https://www.facebook.com/30watercolor/)
เนื้อหาและเรียบเรียง: admin บิ๊ก และ admin เอิง
Comments