top of page

Coffee Sci x Friends Trade ดิน ฟ้า กาแฟ

อัปเดตเมื่อ 16 มิ.ย. 2562

Science behind a cup of quality coffee ยกระดับการปลูกกาแฟจากงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย!


วันนี้ admin อยากเล่าสู่กันฟังถึงทริปกาแฟที่เต็มไปด้วยความรู้ ความภาคภูมิใจ และความสนุกสนานในวงการกาแฟพิเศษไทย...เราทำอะไรกันมาบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ!


ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมงาน School Coffee และเพื่อนๆกลุ่มสหายกาแฟ ได้มีโอกาสร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการยกระดับการผลิตกาแฟอินทรีย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยของทีมงาน Coffee Sci จากสาขาวิชาปฐพีศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงพื้นที่การปลูกกาแฟอินทรีย์และเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจความหมายของคำว่า 'กาแฟที่มีคุณภาพ'


กาแฟที่มีคุณภาพนั้น เกิดขึ้นจากความใส่ใจในกระบวนการผลิตตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บผลกาแฟ การแปรรูป (process) การคั่ว และการสกัดกาแฟ การพัฒนาคุณภาพกาแฟตั้งแต่ต้นทาง (เมล็ดกาแฟ) จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ได้ปลายทางหรือผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งก็คือน้ำกาแฟที่อยู่ในแก้วกาแฟที่มีคุณภาพนั่นเอง


เป็นความโชคดีของวงการกาแฟไทย ที่เรามีกลุ่มนักวิจัย 'Coffee Sci' ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ต้นทางเลย นั่นคือ 'ดิน'


ทีมงาน Coffee Sci



ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับดิน ? ...คำตอบนั้นก็คงไม่ต่างกับวลีเด็ดที่เราชอบพูดถึงกันว่า “You are what you eat” คุณกินอะไรเข้าไป ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารนั้น รวมถึงอะไรก็ตามทั้งที่ดีและไม่ดีที่มากับอาหาร และส่งผลต่อไปกับร่างกายของคุณเอง


ต้นไม้ก็เช่นกัน ทั้งความแข็งแรง ความสมบูรณ์ของต้นไม้ รวมถึงผลผลิตที่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจาก 'อาหาร' ที่ต้นไม้ได้รับเข้าไปซึ่งก็คือ แร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของธาตุอาหารเท่านั้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่ประกอบรวมกันในดิน เช่น ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณน้ำในดิน ฯลฯ ต่างก็ส่งผลต่อการดูดซึมธาตุอาหารของต้นไม้ด้วย อาจพูดง่ายๆว่า หากดินเหมาะสม ต้นกาแฟสมบูรณ์แข็งแรง ผลเชอรี่กาแฟได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่และได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ก็ส่งผลดีต่อคุณภาพของเมล็ดกาแฟต่อไป


อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า กลุ่ม Coffee Sci และหมู่เฮาชาวกาแฟจะพัฒนากาแฟกันอย่างไร แน่นอนว่า เราเริ่มต้นจาก 'ดิน'


บอกเลยว่าทุ่มเทสุด ๆ เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน Coffee Sci ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อพูดคุยกับเกษตรกรและเก็บข้อมูลพื้นที่ปลูกกาแฟจากเกษตรกรใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย ดอยแม่จันใต้ ดอยช้าง ดอยแม่จันหลวง ดอยป่าเมี่ยงโหล่งขอด และดอยบ้านขุนแตะ ตัวอย่างของการเก็บข้อมูล เช่น ผลผลิต ทิศทางของแสง ความมีร่มเงา ความหนาแน่นของต้น การเจริญเติบโตของต้น ความหวานของผลกาแฟ น้ำหนักผลสุก ฯลฯ และที่สำคัญเลยคือข้อมูลดิน โดยทีมงาน Coffee Sci ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน 52 ตัวอย่าง และมีเกณฑ์การให้คะแนนความสมบูรณ์ของดินดังนี้

  • กายภาพ ได้แก่ ประเภทเนื้อดิน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการอุ้มน้ำ และความเป็นประโยชน์ของความชื้นในดิน

  • ชีวภาพ ได้แก่ ปริมาณอินทรีย์วัตถุ

  • เคมีภาพ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ซึ่งสำคัญต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน ปริมาณธาตุอาหารหลัก ปริมาณธาตุอาหารรอง และปริมาณธาตุอาหารเสริม

ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าที่เหมาะสมของดินสำหรับการปลูกกาแฟ เพื่อดูว่าดินนั้นมีค่าอะไรที่เหมาะสมแล้ว และมีค่าไหนที่สูงไปหรือต่ำไป จากนั้น ทีมงาน Coffee Sci ได้แจ้งผลกลับไปยังเกษตกรผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงให้คำแนะนำ เพื่อให้เกษตกรได้ทราบถึงคุณภาพดินของตนเอง และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพดินของตนเองต่อไป



การที่เกษตรกรรู้ว่าดินของตนเองเป็นอย่างไรนั้น สำคัญต่อการบริหารจัดการไร่เพื่อปลูกกาแฟมากเลยนะ การรู้ว่าดินขาดอะไร และมีอะไรที่เกินอยู่แล้ว จะส่งผลต่อการใส่ปุ๋ยในดินและการปรับดินให้เหมาะสมต่อไป การใส่ปุ๋ยให้ดินโดยไม่รู้สภาพดินของตนเอง อาจไม่ได้ช่วยเติมธาตุอาหารที่ขาด และอาจทำให้มีธาตุอาหารบางอย่างสูงเกินไปจนเป็นพิษต่อต้นไม้ได้


แน่นอนว่าข้อมูลที่ได้นี้ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปตัดสินความดีงามของรสชาติกาแฟ การวัดคุณภาพผล-ผลิตหรือก็คือเมล็ดกาแฟ โดยวิธี cupping เพื่อให้คะแนนรสชาติและสัมผัสต่างๆของกาแฟ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากพลพรรคนักชิมกลุ่มสหายกาแฟ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้


พวกเราใช้เวลาราว ๆ 3 วันในการคั่วและชิมกาแฟจากสารกาแฟทั้งหมด 52 ตัวอย่างของเกษตรกร 5 พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ



วันแรก ทีมงานชุดแรกได้เดินทางมาถึงสถานที่ที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ในช่วงบ่าย ๆ ที่ไร่กาแฟป่าเมี่ยง ของพี่วัลลภ โดยช่วงบ่าย เราก็ขอเดินสำรวจไร่กาแฟกันก่อน จากนั้นพอช่วงเย็นก็ลุยคั่วกาแฟชุดแรก จำนวน 30 ตัวเพื่อที่จะใช้ชิมกาแฟในวันถัดไป และในช่วงสาย ๆ ของวันที่สอง ก็คั่วกาแฟอีก 22 ตัวที่เหลือ เพื่อใช้ในการชิมวันสุดท้าย ซึ่งในช่วงบ่าย ๆ ของวันที่สองนี้ เราก็มีทีมสหาย และพี่ ๆ น้องๆ กาแฟ มาสมทบกันเพิ่มเติม



ทีมงานได้เริ่มการชิมกาแฟกัน ในช่วงเย็น ๆ ของวันที่สอง ซึ่งมีทั้งหมด 30 ตัว แบ่งเป็น 4 รอบ มี 2 โต๊ะ คือโต๊ะสำหรับพี่ ๆ กรรมการที่จะให้คะแนนของการชิมกาแฟ ซึ่งมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • Aroma (กลิ่นหอมระเหย)

  • Clean cup (ความสะอาด)

  • Sweetness (ความหวาน)

  • Acidity (ความเปรี้ยว)

  • Mouth feel (น้ำหนักบนลิ้น เนื้อสัมผัส)

  • Flavour (รสชาติ)

  • Aftertaste (รสชาติทิ้งท้ายหลังกลืน)

  • Balance (ความสมดุล)

และอีกโต๊ะสำหรับทีมงาน เราชิมกาแฟกันจนถึงดึก และนัดหมายเวลากันชิมกาแฟต่อในช่วงเช้าของวันที่สาม (ซึ่งเราต้องชิมกาแฟกันต่ออีก 22 ตัว)




จากนั้นทีมงาน Coffee Sci จะรวบรวมคะแนนทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการโครงการ ทั้งการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคุณภาพพื้นที่ปลูกและคุณภาพของผลผลิตกาแฟ และการแจ้งผลให้กับเกษตรกรต่อไป


การที่เกษตรกรได้ทราบถึงคุณภาพดินของตนเอง แนวทางการพัฒนาคุณภาพดิน คุณภาพของผลผลิตกาแฟที่ตนเองปลูก ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตนเอง ซึ่งส่งผลดีต่อตัวเกษตรกรเอง อีกทั้ง ผลจากการดำเนินโครงการยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ซึ่งสามารถส่งต่อให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายอื่น และภาพรวมของการพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยต่อไป


สำหรับพวกเราชาวกาแฟแล้ว เรารับรู้ได้ว่าการมาเยือนของทุกคนในครั้งนี้มีเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ 'เพื่อพัฒนากาแฟพิเศษไทย ให้ทัดเทียมระดับโลก' เราจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดีๆ ที่ช่วยพัฒนาเกษตรกร พัฒนาองค์ความรู้ และคุณภาพของกาแฟไทย


ประทับใจไม่รู้ลืม.




——

เรื่อง: จอม อุไรพรรณ์

ภาพ: จอม อุไรพรรณ์ และ Admin บิ๊ก

เรียบเรียง: Admin เอิง

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม: 28 พ.ค. 62 - 30 พ.ค. 62 สถานที่: ไร่กาแฟนายวัลป่าเมี่ยง




ดู 204 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page