top of page

'มอด' ร่วมกันเราสู้ แยกหมู่เราตาย!!



หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไป กาแฟกรหลายท่านมักจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการส่วนหลังการเก็บเกี่ยวเช่นการเก็บลูกดำที่ต้นหรือที่ตกอยู่ตามพื้นและนำไปเผาอย่างถูกวิธี ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆที่หลายท่านมองข้าม แต่รู้ไหมว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดการแพร่กระจายของมอดในสวนกาแฟของหลายๆพื้นที่ ซึ่งทำให้ผลผลิตของกาแฟกรเสียหายทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ



เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แสนชัย School Coffee และพี่น้องกาแฟกร ณ บ้านวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนาจ.เชียงใหม่ได้รับเกียรติจาก 'อาจารย์ชวลิต กอสัมพันธ์' นักวิทยาศาตร์เกษตรโครงการฝึกอบรมและพัฒนาวิชาการเกษตรที่สูงของคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้ความรู้เรื่อง “มอดเจาะผล” แมลงปีกแข็งตัวเล็กๆว่ามันคืออะไรเติบโตอย่างไรเป็นปัญหาต่อเชอรี่กาแฟยังไง และเราจะป้องกันรวมถึงแก้ไขปัญหามอดได้อย่างไร



ทำความรู้จักกับเจ้า“มอดเจาะผล”

Credit picture: https://www.rnz.co.nz/international/pacific-news/339421/beetle-threat-to-png-coffee-grows-while-govt-stalls

มอดเจาะผลเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กขนาดประมาณ 1.5 ถึง 2 มิลลิเมตรไม่มีงวงซึ่งต่างจากมอดในข้าว ผิวเปลือกเงาๆ ตัวเต็มวัยหากสองด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นว่ามีหนามอยู่ทั่วตัว ถิ่นที่อยู่อาศัยจริงๆอยู่แถบแอฟริกาแต่ทุกวันนี้ก็เข้ามาระบาดในประเทศเราแล้ว และที่มันเป็นปัญหาเรื้อรังเพราะว่าเจ้ามอดมันถึกทนมากๆเลยล่ะ แถมยังขยายพันธุ์ได้รวดเร็วปีละ 12 ครั้งครั้งละ 30 ตัวเลยทีเดียว มันจะอาศัยอยู่ในเมล็ดกาแฟทั้งในผลที่ยังเขียว ผลแดง ผลดำ แม้กระทั่งผลที่ร่วงจากต้นแล้วหากไม่มีการจัดการมันก็จะยังอยู่ได้


ในการจะกำจัดเจ้ามอดเพื่อให้ออกไปจากสวนของเราจะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันของเกษตรกร เพราะว่ามอดตัวเล็กๆนี้สามารถบินได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร หากสวนเรามีการจัดการแต่โดยรอบยังไม่ร่วมมือ มอดจากสวนรอบข้างก็จะสามารถเข้ามายังสวนของเราได้อยู่ดี ดังนั้นเกษตรกรทุกคนจึงต้องร่วมมือร่วมใจกัน




วิชากำจัดมอด 101

ในส่วนของวิธีจัดการเนื่องจากเจ้ามอดทั้งถึกทนและฉลาด เราจะไม่สามารถพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดมันได้เพราะมันจะฝังตัวอยู่ในส่วนลึกของเมล็ดกาแฟถึงพ่นยาก็ใช่ว่าจะกำจัดได้ งั้นเราจะทำยังไงกันดีล่ะ?


วิธีแรกอาจจะต้องลงแรงและใช้เวลามากคือการเก็บผลกาแฟที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวทั้งบนต้นและที่ร่วงอยู่บนพื้นไปกำจัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนฝนตกครั้งแรกกาแฟออกดอกออกผลหมด เจ้ามอดก็จะออกจากผลเก่าไปหาอาหารแล้วเจาะที่ผลใหม่นั่นเอง



วิธีที่สองเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด วิธีนี้เหมาะกับฤดูร้อน คือ การทำ 'กับดักจับมอด' เป็นการนำน้ำยาระเหย (สูตรของหน่วยงานสวทช.) ที่มีกลิ่นสามารถดึงดูดมอดได้มาบรรจุในขวดน้ำยาหยอดตาแล้วนำมาติดที่แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีแดง (หากใช้สีเหลืองผีเสื้อ แมงกะเบื้อจะมาติด จึงใช้สีแดงกันแมลงชนิดอื่นมาติดเป็นการเพิ่มให้มีประสิทธิภาพของกับดักให้มอดติด) แล้วทากาวให้ทั่วแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดทั้งสองด้านนำมาแขวนตรงกลางทรงคุ่ม บริเวณกลางลำต้นกาแฟโดยตัวน้ำยาระเหยจะอยู่ได้ 1-2 เดือน ส่วนกาวจะอยู่ได้นานถึง 1 ปี สวนกาแฟ 1 ไร่ควรแขวนกับดัก 7 อันกระจายๆกัน ควรวางกับดักในช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลกาแฟ เดือนมีนาคม-เมษายนเป็นช่วงที่มอดกำลังหาบ้านใหม่จะสามารถติดกับดักได้มากที่สุด แต่กระนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดต้องทำวิธีที่ 1 และ 2 ร่วมกัน




วิธีที่สามหากวิธีที่หนึ่งและสองยังแก้ปัญหาไม่ตก ในช่วงเดือนกรกฎาหรือฤดูฝน (ราจะชอบความชื้น) ก็สามารถฉีดพ่นราบูเวเรีย (Beauveria bassina) เมื่อฝนตกกาแฟออกดอกออกผล มอดที่บินออกหากินก็จะโดนราที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าจับตัวมอดแล้วมอดก็จะตายในที่สุด แต่หากฉีดพ่นในฤดูร้อนนั้นก็จะไม่ได้ผลเพราะเชื้อราที่ฉีดจะตายนั่นเอง



หลังจากอาจารย์ได้อธิบายปัญหาและวิธีการจัดการกับมอดเจาะผลกาแฟนี่แล้ว อาจารย์ก็ได้พาพวกเราและชาวบ้านช่วยกันทำกับดักมอดเพื่อแจกจ่ายให้กับตัวแทนชุมชนต่างๆที่ปลูกกาแฟ





พวกเราต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ชวลิต กอสัมพันธ์ เป็นอย่างสูงที่มาให้ความรู้อันดีงามนี้ครับ โอกาสหน้าถ้ามีเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับกาแฟ เราจะนำมาเผยแพร่ต่อแน่นอนคร้าบ ฝากติดตามด้วยนะคร้าบ


สุดท้ายนี้ปัญหาเรื่องมอดจะถูกป้องกันและแก้ไขได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆกาแฟกรในพื้นที่ ลงมือปฎิบัติพร้อมๆกัน และอดทนทำอย่างต่อเนื่องอาจจะกินเวลา 5-10 ปีเลยทีเดียว เราเชื่อว่าปัญหามอดจะค่อยๆลดลงและหายไปในที่สุดถ้าทุกคนร่วมมือกัน


#ดื่มกาแฟให้มีความสุขนะครับ




เรื่อง ภาพ เรียบเรียง : Barista โบโบ้ & ก๊อดปิ & Admin บิ๊ก

ดู 485 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page