top of page

SCHOOL BUS 2019: HELLO COFFEE @ กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

อัปเดตเมื่อ 7 มิ.ย. 2562


'กัลยาณิวัฒนา' หนึ่งในอำเภอที่เหล่านักเดินทางได้แวะเวียนมาท่องเที่ยวเพื่อชมธรรมชาติที่สวยงาม และเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่รู้จักในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ที่นี่ยังถือว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกและโปรเซสกาแฟที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้



เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีมงาน School Coffee ได้จัดกิจกรรม School Bus 2019 : Hello Coffee ณ ไร่กาแฟของคุณแสนชัย อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจอยากเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟร่วมทำกิจกรรมกับพวกเราชาวกาแฟ admin บอกได้เลยว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันทุกขั้นตอนกว่าจะได้เป็นเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพนำมาให้เราดื่มกัน ทั้งยังได้พบเจอธรรมชาติสวยงาม ได้มิตรภาพดี ๆ จากพี่ๆ เพื่อน ๆ น้องๆ ร่วมทริป และเป็นเสมือนทริปที่ช่วยเติมพลังบวกกลับมาอย่างมากมายจริง ๆ

เอาล่ะ! ตลอดระยะเวลา 3 วันของกิจกรรม School Bus เราทำอะไรกันบ้าง มาอ่านกันต่อได้เลยค่ะ ^0^




🌳 :: Day 1 :: เดินทางไปกัลยาณิวัฒนา | ปลูกต้นกาแฟ | ชมวิวและชิมกาแฟริมอ่างเก็บน้ำ | ฟังเรื่องเล่าชนเผ่า | ชมโรงตากกาแฟ

พวกเราเริ่มการเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยรถสองแถวเหลือง 3 คันและรถกระบะ 1 คัน เดินทางผ่านโค้งอันตรายมากมายมาจนถึงตลาดสะเมิง เราแวะพักกันซักเล็กน้อย จากนั้นก็เดินทางกันต่อ วิวทิวทัศน์สองข้างทางเต็มไปด้วยภูเขา สวยงามตามธรรมชาติ ไม่นานพวกเราก็แวะเยี่ยมเยียนลานโปรเซสกาแฟของไร่กาแฟ Lica Coffee พวกเขาต้อนรับพวกเราด้วยสตอเบอร์รี่ฉ่ำๆอร่อย ๆ และพูดคุยเรื่องราวการทำโปรเซสกาแฟกันซักพัก ก่อนเดินทางไปยังบ้านพักของคุณแสนชัยที่กัลยาณิวัฒนาต่อไป


ลานตากกาแฟของไร่ Lica Coffee

ในที่สุดพวกเราก็มาถึงไร่ของคุณแสนชัย พวกเขาตอนรับเราด้วยความอบอุ่นเสิร์ฟพร้อมอาหารเที่ยงฉบับชาวดอย อร่อยแบบที่หากินในเมืองไม่ได้แน่ๆ ผัก ปลาสดใหม่ คงรสชาติเดิมของธรรมชาติเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม มาที่นี่เหมือนได้กินอาหารครบมื้อและครบหมู่กว่าหากินเองประจำวันอีกล่ะ

ที่นี่มีบ้านพักทั้งหมด 3 หลังและพื้นที่กางเต็นท์ที่ปูรองด้วยฟาง พื้นที่ใต้หลังคาไว้ทานข้าว และพื้นที่กลางแจ้งไว้ดริปกาแฟและพูดคุยกันรอบกองไฟ ส่วนรอบ ๆ ก็จะมีต้นกาแฟ โรงเพาะต้นกล้า ลานตาก และโรงโปรเซสกาแฟ

หลังอิ่มอร่อยกันไปกับมื้อเที่ยงแล้ว เราก็เริ่มพูดคุยกันถึงสิ่งที่จะทำตลอด 3 วันนี้ และแนะนำสองแสนชัยให้กับผู้ร่วมทริปทุกท่านรู้จัก แสนชัยแรกคือคุณพ่อตา ส่วนอีกแสนชัยคือลูกเขย ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดการการเดินทาง ความเป็นอยู่ และอาหารการกิน ตลอด 3 วันที่พวกเราใช้ชีวิตกันที่นี่ จากนั้นก็แยกย้ายพักผ่อนตามอัธยาศัยและเอาของเก็บในที่พัก ก่อนที่จะไปลุยกิจกรรมแรกของทริปนี้กัน

กิจกรรมแรก คือ จุดเริ่มต้นของกาแฟ .. พวกเราจะไปปลูกกาแฟกัน

สวนที่พวกเราจะเอาต้นกล้ากาแฟไปปลูกลงดินกันนั้นต้องใช้รถกระบะเข้าไป พวกเรากระจายกำลังกันขึ้นรถกระบะ 3 คัน พร้อมต้นกล้ากาแฟที่คุณแสนชัยเพาะไว้ คนพร้อม ของพร้อม ก็ออกเดินทางกันเลย

นั่งรถเพลิน ๆ ไปซักพัก พวกเราก็มาถึงไร่กาแฟ ทั้งสตาฟและผู้ร่วมทริป ช่วยกันขนต้นกล้า และอุปกรณ์ทั้งจอบ บัวรดน้ำและอื่นๆ ไปยังจุดที่พวกเราจะปลูกกาแฟกัน



เริ่มจากคุณบิ๊ก แกนนำการจัดทริป School Bus และคุณแสนชัย ได้เล่าและอธิบายถึงเรื่องที่ควรคำนึงถึงในการที่เราจะลงต้นกล้ากาแฟ ไม่ว่าจะเป็นขนาดและความลึกของหลุมที่เราขุด ระยะห่างระหว่างต้น การเอาหน้าดินที่มีธาตุอาหารและปุ๋ยลงก้นหลุม การสังเกตว่ารากตรงหรือไม่ และจัดการตัดรากที่งอของต้นกล้ากาแฟก่อนเอาลงหลุม การวางต้นกาแฟให้ตรง กลบดิน ทำร่องรอบ ๆ จากนั้นก็รดน้ำ และขุดหลุมทำธนาคารสารอาหารให้กับต้นกาแฟ ซึ่งการจัดการและใส่ใจเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นเรื่องสำคัญและช่วยให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตได้อย่างดีในระยะยาวต่อไป



หลังจากที่พวกเราได้นำต้นกล้าลงดิน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของวันแรกแล้ว ก็ถึงเวลาท่องเที่ยวและพักผ่อน... พวกเราเดินทางกันต่อไปที่พระธาตุโฆ่ว์โพหลู่ ซึ่งมีจุดชมวิวเมือง จากนั้นก็ไปชมความสวยงามของวิวป่าสน อ่างเก็บน้ำ และภูเขาต่อในบริเวณโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) บรรยากาศดีแบบนี้ ก็ต้องมีกาแฟดี ๆ มานั่งกินคู่กับธรรมชาติดี ๆ สินะ ว่าแล้วก็จัดแจงดริปกาแฟกันริมอ่างเก็บน้ำเลย ชิลสุด ๆ




หลังจากทานอาหารเย็น พวกเราก็มานั่งล้อมรอบกองไฟแล้วฟังเพลงจากพะตีทองดี เตนากู (พะตี เป็นคำท้องถิ่นที่ใช้เรียกลุง) ศิลปินปกาเกอะญอ พะตีทองดีร้องเพลงพร้อมกับเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าปกาเกอะญอที่เรียกว่า 'เตหน่า' ซึ่งมีลักษณะคล้ายพิณ สลับกับการเล่าความเป็นมา และการใช้ชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่ อ.กัลยาณิวัฒนา พร้อมกับฝากข้อความถึงพวกเราว่า

“สิ่งที่พวกเราตอบแทนพ่อหลวง ในฐานะปกาเกอะญอต้นน้ำ คือการดูแลต้นน้ำให้ดี”

และน้อง ๆ ของที่นี่ก็มีการแสดง ๆ น่ารัก ๆ ให้เราชมด้วยล่ะ ถือว่าเป็นการต้อนรับที่น่าประทับใจสุด ๆ

ก่อนจะแยกย้ายไปพักผ่อน ก็ปิดกิจกรรมของวันนี้ ด้วยการไปชมโรงตากกาแฟ ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำโปรเซสกาแฟ ซึ่งใช้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น มีการใช้หลอดไฟและพัดลม เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงตากด้วย เชื่อว่าปีนี้คนไทยจะได้ชิมกาแฟดี ๆ จากคุณแสนชัยอีกแน่นอน


โรง process กาแฟของไร่คุณแสนชัย อ.กัลยาณิวัฒนา

🌳 :: Day 2 :: ชมทะเลหมอกพร้อมดริปกาแฟ | เข้าไร่เก็บกาแฟ | เรียนรู้การเพาะเมล็ดและการทำ process | Dry & Honey process | เยี่ยมและแบ่งปันของให้น้อง ๆ | คั่วกาแฟเองเบื้องต้นด้วยตะแกรง



เริ่มต้นวันด้วยการเดินทางไปชมทะเลหมอกกันแต่เช้ามืด เมื่อขึ้นรถกระบะฝ่าลมหนาวและหมอกหนามาซักพัก พวกเราก็ถึงยังจุดชมวิว ซึ่งแน่นอนว่าอากาศหนาว ๆ วิวสวย ๆ มันต้องมีกาแฟดี ๆ ไว้ดื่มพร้อมกับดื่มด่ำบรรยากาศรอบตัวไปด้วยสิ!...พวกเราจึงไม่พลาดที่จะนำอุปกรณ์ดริปกาแฟขึ้นมาด้วย






ท้องฟ้าค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีเหลืองเรืองรองจากแสงสว่างของพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นพ้นขอบฟ้า เร้าผู้คนให้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเก็บไว้ บ้างก็ใช้ประสาทสัมผัสของร่างกายดื่มด่ำความสวยงามของธรรมชาติโดยตรง ผ่านไปไม่กี่นาทีแสงอาทิตย์ที่เคยอุ่นกลับแผดเผาพวกเรา เป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาเดินทางกลับมายังที่พัก เพื่อทานข้าวและเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมของวันนี้ต่อไป



เรื่องราวระหว่างทาง กว่าจะมาเป็นกาแฟหนึ่งแก้ว...


หลังจากทานข้าว พวกเราก็เดินทางต่อ ไปยังไร่กาแฟที่อยู่ในบริเวณบ้านห้วยตอง จ. แม่ฮ่องสอน วันนี้พวกเราต้องกระจายกำลังกันเก็บเชอร์รี่กาแฟ คุณแสนชัยได้อธิบายวิธีการเก็บผลเชอร์รี่ แล้วแบ่งพวกเราเป็น 4 กลุ่ม แยกย้ายกันเข้าไร่ ตามหาเชอร์รี่กาแฟสุก แล้วเก็บใส่กระสอบกัน พอถึงเวลาเรียกรวมตัว แต่ละกลุ่มก็ได้เลือกเชอร์รี่กาแฟที่คิดว่าเด็ดที่สุด ดีที่สุดมา 1 เม็ด เพื่อเอามาแข่งขันวัดค่าความหวาน หรือการวัดค่า Brix ซึ่งกลุ่มที่ชนะก็จะได้กาแฟจาก School Coffee ไปคนละ 1 ถุงเลยจ้าา (^0^)



วัดค่า Brix กันด้วยความสนุกสนานแล้ว ก็เดินทางกลับมาทานข้าวกลางวันที่บริเวณที่พักกันต่อ กิจกรรมช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยการแบ่งปันความรู้ โดยคุณแสนชัยเริ่มเล่าเกี่ยวกับการเพาะเมล็ด ตั้งแต่การเก็บ บีบ คัดเมล็ด ล้าง ตาก การวางด้านแบนลงดิน กลบ รดน้ำ รองอก แล้วเพาะลงถุงต่อไป




ต่อจากคุณแสนชัย ก็เป็นน้อง ๆ จาก School Coffee ที่มาเล่าเกี่ยวกับการทำ process กาแฟหลัก 3 process คือ natural หรือ dry process, honey process และ washed process พร้อมสื่อการเล่าน่ารัก ๆ ให้พวกเราเห็นภาพตามด้วย


ไม่ใช่เพียงแค่นั้น...เพื่อความอินและเห็นภาพมากขึ้น ทีมงานจึงจัดกิจกรรมให้พวกเราได้ลองทำ natural และ honey process ด้วยล่ะ



หลังจากเรียนรู้เรื่องการ process กาแฟเสร็จ ก็ได้เวลาไปเยี่ยม ไปทักทาย และได้นำสิ่งของไปแบ่งปันให้กับน้อง ๆ ที่บ้านพะตีสมเกียรติด้วย จริง ๆ แล้วพะตีสมเกียรติได้ใช้สถานที่ของตนในการรับดูแลเด็กที่มีปัญหา บางคนมีปัญหาด้านสุขภาพ บางคนมีปัญหาด้านครอบครัว พะตีสมเกียรติใช้ทุนทรัพย์ของตน รวมทั้งเงินและสิ่งของที่มีคนบริจาคมา เพื่อใช้ในการดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งวันนั้น เด็ก ๆ ได้ทำขนมเอาไว้ต้อนรับพวกเรา และมีการแสดงน่ารัก ๆ ให้พวกเราชมด้วย


หลังอาหารมื้อเย็น พวกเราได้ทำกิจกรรมสุดท้ายของวันนี้กัน คือการคั่วกาแฟเบื้องต้นด้วยตะแกรง ซึ่งเป็นวิธีการคั่วที่ง่ายและสนุก สามารถทำที่บ้านเองได้ด้วย กิจกรรมนี้สอนโดยคุณบิ๊ก จาก School Coffee ตะแกรงที่ใช้คั่วกาแฟ เป็นตะแกรงแบบที่มีลอนด้านในเพื่อใช้ในการช่วยพลิกกาแฟเวลาเราเขย่าด้ามตะแกรง จากนั้นผู้ร่วมทริปทุกท่าน ก็ผลัดเวียนกันทดลองคั่วเมล็ดกาแฟ โดยทางทีมงานได้เตรียมสารกาแฟไว้ให้ได้ลองกันด้วย ซึ่งคืนนั้นนอกจากจะมีวงกิจกรรมนี้อยู่ข้างกองไฟแล้ว ก็ยังมีอีก 2 วงข้าง ๆ กองไฟที่ครึกครื้น สนุกสนานไม่แพ้กันคือวงดริปกาแฟ และวงปิ้งข้าวปุกและกล้วย ด้วยล่ะค่ะ ^o^



🌳 :: Day 3 :: Sensory | เดินทางกลับ

เช้าวันสุดท้ายของทริปนี้ที่กัลยาณิวัฒนา ตื่นมาเจอหมอกหนาและอากาศหนาว พวกเราเริ่มต้นเช้านี้ ด้วยกาแฟดริปเช่นเดิม ก่อนที่จะทานมื้อเช้า แล้วทำกิจกรรมแรกของวันซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของทริปนี้กัน


ฝึกประสาทการลิ้มชิมรสและดมกลิ่นกาแฟ ด้วยการทำ 'Sensory'


รสและกลิ่นของกาแฟ หากแยกย่อยออกไปนั้น สามารถจำแนกได้หลายกลุ่ม (ผู้อ่านสามารถติดตามได้ในบทความเรื่อง Coffee Taster's Flavor Wheel) ในส่วนของวันนี้ พวกเราได้ทำความรู้จักกับ sensory ซึ่งเป็นการรับรู้รสและกลิ่นของกาแฟ เพื่อให้รับรู้ความแตกต่างและสร้างความคุ้ยเคยกับกลิ่นหรือรสเหล่านี้ โดยมีทั้งลักษณะกลิ่นหรือรสที่ดีและที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งสามารถพบเจอได้เมื่อดื่มกาแฟ


ทางทีมงาน School Coffee ได้เตรียมวัตถุดิบที่ใช้แทนรสและกลิ่นที่พบได้ในกาแฟ เช่น ผลไม้สด ผลไม้ตากแห้ง กลิ่นไซรัป น้ำผึ้ง ช็อคโกแลต เครื่องเทศ ถั่ว ผัก และยา ฯลฯ ไว้ให้ลูกทริปได้ฝึกประสาทการรับรู้กัน โดยพวกเราเริ่มจากการดมกลิ่น จากนั้นชิม เพื่อจดจำและเปรียบเทียบนกลิ่นและรสเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักใช้อ้างอิง ความเปรี้ยว ความหวาน กลิ่นดอกไม้ และ defect ที่เรารับรู้จากการกินกาแฟกัน



จบกิจกรรมสุดท้าย เราก็แยกย้ายกันเก็บข้างของ เก็บเต็นท์ทานมื้อเที่ยง คุณพ่อแสนชัย และคุณแสนชัยกล่าวปิดทริป จากนั้นเดินทางกลับมายังตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจบทริปอย่างเต็มไปด้วยความรู้ ความสนุก เฮฮา มิตรภาพ และพลังบวกกันอย่างมากมาย

หวังว่า School Coffee คงได้มีโอกาสเจอคุณผู้อ่านในทริปต่อ ๆ ไปนะคะ (^0^)b



_______

เรื่อง: จอม อุไรพรรณ์ และ Admin เอิง

ภาพ: จอม อุไรพรรณ์ Admin บิ๊ก และลูกทริป School Bus 2019

เรียบเรียง: Admin เอิง


Comments


bottom of page